วันพฤหัสบดีที่ 8 ตุลาคม พ.ศ. 2552

พฤติกรรมทำร้ายดวงตา





5 พฤติกรรมทำร้ายดวงตา
กิจวัตร หลายอย่างในชีวิตการทำงานของเวิร์กกิ้งมัมอย่างเรา ทำร้ายสุขภาพดวงตาอย่างไม่รู้ตัว หรืออาจจะรู้อยู่แก่ใจ แต่ไม่สน ดวงตาเลยต้องรับศึกหนัก จนวันหนึ่งมีปัญหาเกิดขึ้นนั่นแหละ ถึงหันกลับมาพิจารณาสิ่งที่ทำ แล้วค่อยๆ ปรับพฤติกรรม หยุดทำร้ายดวงตาของเรากันเถอะค่ะ

พฤติกรรม 1 No แว่นกันแดด
สังเกตว่า ยุคนี้ผู้หญิงเราขับรถเองแทบทั้งนั้น แต่สิ่งที่หญิงสาวเช่นเราห่วงกันมากคือผิวสวยๆ จะถูกแสงแดดทำลาย ตอนไปทำงานก็มัวแต่แต่งหน้าในรถ จนลืมปกป้องดวงตา ทราบไหมว่าแสงที่ตกกระทบบนพื้นผิวอย่างน้ำ กระจก หรือโลหะ ที่พบได้ตลอดเส้นทาง เป็นอันตรายต่อสายตาได้ แต่ถึงอย่างนั้น สาวๆ ส่วนใหญ่ก็ไม่ยอมสวมแว่นกันแดดขณะขับรถ หรือใช้แว่นกันแดดแบบที่ไม่มีประสิทธิภาพ ซึ่งยิ่งส่งผลเสียต่อดวงตาเข้าไปใหญ่

Advice
แว่น ตากันแดดเก๋ๆ ควรมีติดรถไว้ ขับรถเมื่อไหร่ หยิบขึ้นมาใส่ทันที ไม่ขับรถก็ใส่ได้เหมือนกันค่ะ เพียงแต่แว่นกันแดดที่ว่าก็ควรเป็นแว่นที่สามารถกรองรังสียูวีได้จริง เช็กจากฉลากที่ด้านข้างของแว่น เพื่อให้แน่ใจว่า เป็นแว่นที่กรองแสง UVA และ UVB ได้ 100% โดยเลนส์สีชาและสีเทาเหมาะกับการใช้งานทั่วไปมากที่สุด

พฤติกรรม 2 ติดจอ
การที่ต้องนั่งจับจ้องอยู่หน้าคอมพิวเตอร์เป็นกิจวัตร ก็เป็นอีกตัวการหนึ่งที่ไม่ควรมองข้าม เรื่องนี้มีการพูดถึงกันบ่อย จะว่าไปอาจจะหลีกเลี่ยงกันยากสักนิด เพราะคอมพิวเตอร์ถือเป็นอุปกรณ์จำเป็นของเกือบทุกองค์กร เจ้าอุปกรณ์ที่ว่าจึงมีอิทธิพลต่อชีวิตเราอย่างเลี่ยงไม่ได้ และด้วยรูปแบบการทำงานลักษณะ “ติดจอ” ที่มักจะอยู่หน้าจอกันเป็นหลัก ทำให้สาวๆ เกิดอาการตาล้า ตาแห้ง ตาแดง และระคายเคือง ยิ่งอยู่ในห้องปรับอากาศด้วยแล้ว ตายิ่งแห้งไปกันใหญ่ อาจเกิดอาการปวดตา ปวดหัว เป็นหนักเข้าก็อาจทำให้เป็นโรคจอประสาทตาเสื่อมก็ได้

Advice
- วางคอมพิวเตอร์ในตำแหน่งที่เหมาะสม หน้าจอควรอยู่ห่างจากตัวเราประมาณ 50-70 ซม. โดยให้ระดับจออยู่ต่ำกว่าระดับสายตาประมาณ 4-9 นิ้ว
- พยายามเปลี่ยนอิริยาบถบ้าง ลุกขึ้นยืดเหยียดกล้ามเนื้อ อย่ามัวแต่ทำตัวติดจอ ไม่ว่าจะเป็นทีวีหรือคอมพิวเตอร์ก็ตาม เป็นการพักสายตาที่ได้ผลอีกวิธี
- หากตาเริ่มแห้ง เนื่องจากเพ่งมองคอมพิวเตอร์เป็นเวลานาน ให้กะพริบตาถี่ๆ อาจใช้น้ำตาเทียมหยอดเพิ่มความชุ่มชื้น และควรดื่มน้ำมากๆ ก็ลดอาการตาแห้งได้ดีอีกวิธีหนึ่ง

พฤติกรรม 3 คอนแทคเลนส์ใช้ผิด
เดี๋ยวนี้สาวสายตาสั้นมีตัวช่วยให้ดูดีขึ้นหลายอย่าง หนึ่งในนั้นก็คือ คอนแทคเลนส์ หลายคนโยนแว่นตาทิ้งไป หันมาใส่แบบนี้เพื่อเสริมบุคลิก หากใช้อย่างถูกวิธีก็คงไม่มีปัญหา แต่ส่วนใหญ่ที่พบก็คือ มักใส่จนเกินวันหมดอายุตามที่ระบุอยู่บนผลิตภัณฑ์ และทั้งที่อยู่ใกล้ตามากๆ แต่ก็ยังไม่รักษาความสะอาดให้ดี กลับถึงบ้านแล้วไม่ถอดเลนส์ออก เข้านอนทั้งอย่างนั้นก็เยอะค่ะ เลยกลายเป็นขาประจำของโรคตาติดเชื้อไป บางคนเป็นเรื้อรังหนักเข้าอาจถึงขั้นตาบอดได้เลยทีเดียว

Advice
- ใช้และรักษาความสะอาดคอนแทคเลนส์ตามคำแนะนำข้างกล่องอย่างเคร่งครัด
- ซื้อคอนแทคแลนส์จากแหล่งที่เชื่อถือได้ และเลือกที่ผ่านการตรวจสอบมาตรฐาน คุณภาพแล้ว

พฤติกรรม 4 ลองเครื่องสำอางตามเคาน์เตอร์
ได้ยินคำเตือนกันอยู่บ่อยๆ ถึงการลองสินค้าตัวอย่างตามเคาท์เตอร์เครื่องสำอาง โดยเฉพาะสินค้าจำพวกอายแชโดว์ ที่อาจทำให้ตาของคุณติดเชื้อจากคนที่ลองสินค้านี้ก่อนหน้า สิ่งที่ตามมาก็อาจเป็นการอักเสบจากการติดเชื้อนั่นแหละ คุ้มแล้วเหรอกับการประหยัดด้วยวิธีนี้

Advice
- ไม่ลองเครื่องสำอางโดยตรงกับดวงตา แต่ลองสีกับบริเวณท้องแขนแทน
- ควรใช้อุปกรณ์อย่างพู่กัน คัตตอนบัด ในการแต่งหน้า เพื่อลดการติดเชื้อ และป้องกันการปนเปื้อนจนเครื่องสำอางเสียก่อนเวลาอันควร
- เครื่องสำอางเป็นของใช้ส่วนตัวที่ต้องสัมผัสกับผิวของเราโดยตรง ไม่ควรใช้ปะปนกับผู้อื่นโดยไม่จำเป็น

พฤติกรรม 5 ใช้สายตามาราธอน
ดูทีวี หรืออ่านหนังสือแบบไม่มีลิมิต แทบไม่ได้พักสายตาเลย แบบนี้มีผลเสียแน่นอน เพราะอวัยวะสำคัญต้องทำงานหนักอยู่ตลอด ยิ่งหากมีการเพ่งจ้องเป็นเวลานานด้วยแล้ว คุณอาจเกิดอาการปวดตาเอาง่ายๆ

Advice
- ปรับแสงสว่างของห้องให้เหมาะสม ไม่ให้มีแสงสว่างน้อยจนต้องเพ่ง หรือมากจนรบกวนการการทำงานของดวงตา อาจใช้ผ้าม่านแบบบางเพื่อกรองแสงบางส่วนไว้ ไม่ให้เข้าตาโดยตรง
- พักสายตาทุกๆ ชั่วโมง เมื่อดวงตาอ่อนล้า อาจจะหลับตา หรือมองไปไกลๆ เพื่อให้สายตาได้พักผ่อน หาต้นไม่สีเขียวต้นเล็กๆ มาวางไว้ที่โต๊ะทำงาน สีเขียวช่วยให้ดวงตาได้ผ่อนคลาย

ดูแลใส่ใจ ก่อนดวงตาคู่สวยจะถูกทำร้ายมากไปกว่านี้ดีกว่าค่ะ

วิธีถนอมดวงตาแบบง่ายๆ
- หลีกเลี่ยงการใช้มือสกปรกขยี้หรือเช็ดตา
- บริหารดวงตาด้วยการกรอกลูกตาวนตามเข็มนาฬิกาเป็นวงกลม แล้วกรอกทวนเข็มนาฬิกา ทำซ้ำ 3-4 ครั้ง วิธีนี้ใช้ได้ทุกครั้งเมื่อตาเกิดอาการเมื่อยล้า
- กินผักและผลไม้สดที่มีส่วนประกอบของวิตามินเอ มีสารต้านอนุมูลอิสระ และมีส่วนประกอบของลูทีน จำพวกผักใบเขียว แครอท ผักโขม ฟักทอง ควบคู่ไปกับอาหารที่มีส่วนประกอบของโอเมกา 3 เพื่อบำรุงสายตา และทำให้การทำงานของตามีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

ที่มา jojo7000.com

ซอสปรุงรส





เอาล่ะครับ! ก็ดูฉลากกันเสียเลย เลขทะเบียนของผลิตภัณฑ์ซอสปรุงรสส่วนใหญ่มีอักษรย่อ “ฉผซ” พระราชบัญญัติอาหาร พุทธศักราช 2522 ไม่ได้กำหนดผลิตภัณฑ์นี้เป็นอาหารควบคุมเฉพาะ แต่เป็นอาหารประเภทที่ต้องแสดงมีฉลาก จึงมีอักษร “ฉผ” นำหน้า ส่วนอักษร “ซ” หมายถึง ซอสซึ่งจัดอยู่ในประเภทซอสที่ทำจากถั่วชนิดต่างๆ นอกจากนี้ยังพบว่า บางยี่ห้อมีอักษร “ฉสซ” ซึ่งแสดงว่าเป็นผลิตภัณฑ์ที่ส่งเข้ามาจากต่างประเทศ

กรรมวิธีการผลิตซอสปรุงรส

คำว่า “ซอสปรุงรส” นี้น่าจะเป็นคำที่บัญญัติขึ้นมาเพื่อใช้แทนคำว่า “ซีอิ๊วเคมี” ซอสปรุงรสเริ่มเข้ามามีบทบาทบนโต๊ะอาหารของคนไทยครั้งแรกเมื่อหลายสิบปีก่อน ในชื่อการค้าว่า “แม็กกี้” ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์จากยุโรป วัตถุประสงค์ของการผลิตซอสปรุงรส คือ เพื่อลดระยะเวลาในการผลิตซีอิ๊ว ซึ่งโดยทั่วไปต้องใช้เวลาในการหมักนานกว่าซีอิ๊วเคมีมาก วิธีการผลิตเริ่มต้นจากการย่อยโปรตีน ซึ่งโดยทั่วไป ก็คือ กากถั่วเหลืองหรือถั่วเหลืองที่สกัดน้ำมันออกมาแล้ว หรืออาจเป็นโปรตีนจากเมล็ดพืชอื่น หรือโปรตีนจากสัตว์ เช่น เคซีน (casein) หรือโปรตีนนม โปรตีนจะถูกย่อยในกรดเข้มข้นซึ่งเรียกกระบวนการนี้ว่า acid hydrolysis

หลังจากนั้นจึงปรับให้หมดสภาพกรดด้วยการ เติมด่าง ซึ่งปกตินิยมใช้โซเดียมไฮดรอกไซด์ (NaOH) เมื่อด่างทำปฏิกิริยากับกรดที่ใช้ย่อย จะทำให้เกิดเกลือ (NaCl) ขึ้นได้ สารอาหารหลักๆ ที่ถูกย่อยโดยกรด คือ แป้งและโปรตีน แป้งที่ถูกย่อยก็กลายเป็นน้ำตาล ส่วนโปรตีนก็จะถูกย่อยกลายเป็นกรดอะมิโน กรดอะมิโนชนิดที่เป็นยอดปรารถนาของการผลิตสินค้าชนิดนี้และรวมถึงการหมัก ซีอิ๊วแบบดั้งเดิมก็คือ กรดกลูตามิก ท่านผู้อ่านบางท่านอาจจะยังสงสัยอยู่ แต่เชื่อว่าหลายคนต้องรู้จักเกลือของกรดกลูตามิกที่ชื่อ โมโนโซเดียมกลูตาเมตหรือเอ็มเอสจี ก็คือ ผงชูรส นั่นเอง ซึ่งในกระบวนการผลิตซอสปรุงรสจะมีผงชูรสเกิดขึ้นในปริมาณหนึ่งด้วย กรดอะมิโนบางชนิดที่เกิดจากการย่อยนี้เมื่อทำปฏิกิริยากับน้ำตาล จะทำให้ผลิตภัณฑ์เกิดสีน้ำตาลเข้ม

ในการผลิตซีอิ๊วเคมีได้พบว่า มีรสชาติแตกต่างจากซีอิ๊วหมักดั้งเดิม จึงได้พยายามที่จะปรับสีและรสชาติให้ใกล้เคียงกับของดั้งเดิม แต่ก็ยังไม่ใคร่สำเร็จนัก กลิ่นรสหลายอย่างที่พบในซีอิ๊วหมักสูตรดั้งเดิมเกิดขึ้นจากการทำงานของ จุลินทรีย์และการเปลี่ยนแปลงทางเคมีอย่างช้าๆ ซึ่งจะไม่เกิดขึ้นได้ในปฏิกิริยาเคมีที่รวดเร็วและรุนแรงเหมือนการผลิต ซีอิ๊วเคมี อย่างไรก็ตามผู้เขียนรู้สึกว่าผู้บริโภคในปัจจุบันนี้ยอมรับในความแตกต่าง เหล่านี้ได้ และตัดสินว่าซอสปรุงรสเป็นผลิตภัณฑ์อย่างหนึ่งที่แตกต่างจากซีอิ๊วหมัก ธรรมดา และยังให้รสชาติที่เป็นเอกลักษณ์ซึ่งเหมาะในการปรุงอาหารบางประเภทด้วย

ส่วนประกอบในซอสปรุงรส

หลังจากได้เข้าใจวิธีการผลิตพอสังเขปแล้ว เราก็เข้ามาถึงส่วนที่น่าสนใจที่สุด ก็คือ การอ่านส่วนประกอบบนฉลาก ซึ่งผมก็ได้เห็นความหลากหลายพอสมควร จึงต้องแบ่งเป็นกลุ่มๆ เพื่อให้ท่านผู้อ่านได้เข้าใจง่ายขึ้น ดังนี้
1. โปรตีน หมายถึงโปรตีนที่ใช้เป็นแหล่งของกรดอะมิโน ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการให้สี กลิ่น รส ของผลิตภัณฑ์ และมักระบุบนฉลากว่า โปรตีนสกัดจากถั่วเหลือง ซอสถั่วเหลือง ถั่วเหลืองบีบน้ำมัน หรือถั่วเหลือง ทุกแบบมีความหมายเดียวกัน คือ ใช้ถั่วเหลืองซึ่งผ่านการสกัดไขมันออกแล้ว (กระบวนการผลิตซีอิ๊วเคมีไม่ใช้วัตถุดิบที่มีไขมันปนอยู่มาก เพราะจะทำให้มีกลิ่นเหม็นของไขมันที่ถูกย่อย) มาผลิตเป็นซีอิ๊วเคมี แล้วจึงนำมาปรุงรสชาติ

นอกจากนี้ยังพบว่า มีการใช้โปรตีนจากแหล่งอื่นด้วยเช่น ถั่วลิสง ข้าวโพด เคซีน (โปรตีนนม) อย่างไรก็ตาม บางยี่ห้อก็เพียงระบุว่าโปรตีน ปริมาณของแหล่งโปรตีนที่ใช้ในช่วงที่ผลิตซีอิ๊วเคมีก็ดี หรืออัตราส่วนของซีอิ๊วเคมีที่นำมาผสมกับส่วนผสมอื่นเพื่อผลิตเป็นซอสปรุงรส ก็ดี ย่อมมีผลโดยตรงต่อเปอร์เซ็นต์โปรตีนในผลิตภัณฑ์ ดังจะเห็นว่าในซอสปรุงรสหลายยี่ห้อได้กำหนดเกรดและราคาตามระดับโปรตีน เช่น ร้อยละ 10 ร้อยละ 15 และร้อยละ 20

2. น้ำตาล ซอสปรุงรสที่จำหน่ายในท้องตลาดส่วนใหญ่เติมน้ำตาลในปริมาณที่แตกต่างกัน ตั้งแต่ร้อยละ 1.2–10 น้ำตาลที่เติมลงไปเพื่อช่วยในเรื่องรสชาติ และอาจจะมีผลทำให้สีของผลิตภัณฑ์ดีขึ้นด้วย

3. เกลือ โดยทั่วไปซอสปรุงรสทุกยี่ห้อน่าจะมีปริมาณเกลืออยู่ร้อยละ 18–21 อย่างไรก็ตาม มีเพียง 3-4 ยี่ห้อเท่านั้นที่ระบุว่า มีการเติมเกลือ โดยที่ยี่ห้ออื่นเพียงแต่ระบุว่า มีส่วนผสมของซอสถั่วเหลืองหรือโปรตีนสกัด ทั้งที่ในกระบวนการผลิตส่วนผสมเหล่านี้ได้มีเกลือเกิดขึ้นมากมาย ดังนั้นในกรณีนี้ผู้บริโภคจะต้องเข้าใจได้เองว่าในซอสเหล่านั้นมีส่วนผสมของ เกลืออยู่ในปริมาณสูงทั้งสิ้น

ผมได้พบว่า มียี่ห้อหนึ่งระบุเป็นภาษาไทยว่าโปรตีนสกัดจากถั่วเหลืองและน้ำ ซึ่งอาจทำให้ผู้บริโภคที่ไม่ทราบกระบวนการผลิตเข้าใจผิดว่าไม่มีเกลือผสม อยู่ เพราะคำว่า “โปรตีนสกัดจากถั่วเหลือง” อาจทำให้ผู้บริโภคคิดว่าเป็นคนละชนิดกับซีอิ๊วเคมีหรือซอสปรุงรส ทั้งที่เป็นผลิตภัณฑ์ประเภทเดียวกัน อย่างไรก็ตาม ฉลากส่วนที่เป็นภาษาอังกฤษระบุว่า hydrolyzed vegetable protein and salt (ผมอยากแปลเป็นภาษาไทยว่า โปรตีนพืชย่อยสกัดและเกลือ) ซึ่งมีความหมายที่กระจ่างชัดและถูกต้องกว่าภาษาไทย

ในสถานการณ์ที่ผู้บริโภคหลายกลุ่มต้องระมัดระวังเกี่ยวกับการบริโภคเกลือ เพื่อรักษาสุขภาพนี้ จึงอยากจะขอให้ทางสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาควบคุมฉลากอาหารประเภทนี้ให้ รัดกุมและสื่อความหมายที่ถูกต้องกว่าที่เป็นอยู่ในขณะนี้

4. วัตถุปรุงแต่งรสอาหาร ซอสปรุงรสบางยี่ห้อระบุว่าไม่มีการเติมผงชูรสและไม่มีวัตถุกันเสีย ในขณะที่บางยี่ห้อระบุว่า ใช้ผงชูรสพร้อมระบุปริมาณ ดังที่ได้กล่าวไว้ข้างต้น ผงชูรสเกิดขึ้นได้เองในระหว่างกระบวนการผลิต แต่ผู้ผลิตบางรายก็อาจมีการเพิ่มเติมลงไปอีก จึงต้องมีการระบุ ดังนั้นผู้ที่มีปัญหาแพ้ผงชูรสในปริมาณต่ำก็อาจจะต้องระมัดระวังในการบริโภค ซอสปรุงรส ส่วนวัตถุกันเสียนั้นไม่จำเป็นต้องเติมในผลิตภัณฑ์นี้ เนื่องจากมีปริมาณเกลือที่สูงมากพอที่จะถนอมไว้ได้

ซอสปรุงรสเกือบทุกยี่ห้อมีการเติมไดโซเดียม-5’ –อิโนไซเนต (Disodium-5’ -Inosinate) และไดโซเดียม-5’ –กัวลิเนต (Disodium-5’ -Guanylate) ซึ่งเป็นวัตถุปรุงแต่งรสอาหารชนิดใหม่ที่นิยมกันมากขึ้น มักจะเรียกสั้นๆ ในวงการอุตสาหกรรมอาหารว่า ไอพลัสจี (I plus G) ซึ่งนอกจากช่วยในการปรุงแต่งรสอาหารแล้ว ยังช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการปรุงแต่งรสอาหารของผงชูรสอีกด้วย

วิธีเลือกซื้อซอสปรุงรส
สนนราคา ของซอสปรุงรสแต่ละยี่ห้อไม่แตกต่างกันมาก อย่างไรก็ตามราคาของซอสยี่ห้อเดียวกันจะแตกต่างกันตามปริมาณโปรตีนที่ระบุ ปริมาณโปรตีนที่สูงกว่าจะมีราคาสูงกว่า ในการเลือกซื้อก็อยากจะแนะนำให้เลือกดูรสชาติที่ถูกใจ อย่าไปคาดหวังว่าจะให้ซอสปรุงรสเป็นแหล่งโปรตีนสำหรับคุณและสมาชิกในครอบ ครัว เนื่องจากความเค็มจากปริมาณเกลือที่มีอยู่จะเป็นตัวจำกัดปริมาณซอสที่สามารถ เติมลงไปในอาหาร ซึ่งเป็นการจำกัดปริมาณโปรตีนที่จะได้รับด้วย ถ้าคุณถูกใจซอสปรุงรสชนิดโปรตีนต่ำ ก็เป็นบุญของคุณที่เสียเงินซื้อน้อยหน่อย แต่ถ้าคุณไปปิ๊งกับชนิดที่มีโปรตีนสูง ก็คงต้องเสียสตางค์เพิ่มขึ้นอีกนิดหน่อย

ข้อสังเกตนี้ขอให้รวมไปถึง การเลือกซื้อซอสปรุงรสชนิดที่สั่งเข้าจากต่างประเทศด้วย เพราะราคาแพงกว่าชนิดที่ผลิตภายในประเทศถึง 3 เท่าตัว คุณต้องตัดสินความอร่อยและเอา 3 หาร หลังจากนั้นจึงค่อยตัดสินใจว่าจะซื้อมาบริโภคหรือไม่


jojo7000.com

เลือกที่นั่งบนเครื่องอย่างไรให้ปลอดภัย





เลือกที่นั่งบนเครื่องอย่างไรให้ปลอดภัย
ในสถานการณ์ปัจจุบันกับข่าวคราวเหตุการณ์อุบัติเหตุทางเครื่องบิน ที่มีทั้งการสูญเสียและบางครั้งเราจะได้รับข่าว ของการรอดชีวิต ซึ่งหลายคนอาจมองว่า นั่นเองเป็นปฎิหารย์ ซึ่งหากเป็นกรณีเครื่องบินตกท่ามกลางพายุ หรือระเบิดบนอากาศแล้วก็ยากที่จะรอดชีวิต แต่หากเป็นเครื่องนำลงฉุกเฉิน ก็อาจจะมีทั้งผู้เสียชีวิตและผูรอดได้ คำถามที่ชวนสงสัยที่มักถามกับผู้รอดชีวิตเสมอๆ นั่นคือ"คุณรอดมาได้ยังไง แล้วคุณนั่งอยู่ตรส่วนไหนของเครื่องบิน"

แต่ก็มีอีกหลายเสียงที่แย่งว่า "นั่งตรงไหนมันก็ไม่ปลอดภัยทั้งนั้นแหละ" หรือไม่ก็ "แล้วแต่ว่าอุบัติเหตุจะเกิดขึ้นตรงไหน"นี่ก็พิจารณาตามสถานการณ์

นิตยสารป๊อบปูลา มาแคนนิกส์ (The Popula Mechanics) เคยวิจัยโดยวิเคราะห์ทางสถิติไว้ว่า ที่นั่งบนเครื่องบิน นั่งด้านท้ายปลอดภัยกว่า ทั้งนี้จากการศึกษาสถิติจากอุบัติเหตุต่างๆ ของสารพัดสายการบินที่เกิดขึ้นในสหรัฐอเมริกาชี้ให้เห็นว่า ยิ่งอยู่ห่างจากหัวเครื่องบินเท่าไหร่ก็ยิงปลอดภัยมากขึ้นเท่านั้น โดยสถิติจากผู้รอดชีวิตจากอุบัติเหตุบนเครื่องบินส่วนใหญ่ 40% มีที่นั่งบริเวณหางเครื่องบิน

นิตยสารดังกล่าว ได้นำข้อมูลอุบัติเหตุของเครื่องบินในสหรัฐฯ จำนวน 20 ครั้ง จากสำนักงานความปลอดภัยด้านการขนส่งแห่งสหรัฐฯ(NTSB) ตั้งแต่ปี 2514 จนถึง ส.ค. 2550 อย่างละเอียด ที่มีทั้งผู้รอดชีวิตและเสียชีวิตพร้อมทั้งข้อมูลแผนผังที่นั่งของผู้โดยสาร มาวิเคาระห์ว่า อุบัติเหตุแต่ละครั้ง ผูโดยสารในแต่ละที่นั่งมีสภาพเป็นอย่างไร โดยทีมงานได้เปรียบเทียบอัตราการรอดชีวิต โดยแบ่งเครื่องบินออกเป็น4 ส่วน โดยได้ข้อสรุปว่า "ยิ่งใกล้หางยิ่งปลอดภัยกว่า"

อุบัติเหตุ 11 ใน 20 ครั้ง ผู้โดยสารที่นั่งแถวท้ายๆส่วนใหญ่ปลอดภัย หรือประสบอุบัตเหตุเบากว่า โดยใน 7 กรณีของกลุ่มนี้ผู้โดยสารที่ปลอดภัยนั่งอยู่ในแถวท้ายๆ อีกทั้งได้ยกตัวอย่างอุบัติเหตุในปี 2525 กับสายการบินฟอริดา (Air Florida) ที่เกิดขึ้นในวอชิงตันดีซี และปี 2515 กับอีสเทิร์น 727 (Eastern 727) ที่ท่าอากาศยานเคนนาดา ในนิวยอร์ก ซึ่งผู้โดยสารของทั้งของทั้ง 2 กรณีที่รอดชีวิตล้วนนั่งอยู่บริเวณหางของเครื่องบิน อีกทั้งมีกรณีดีซี-8 ของสายการบินยูไนเต็ด เกิดน้ำมันหมดกลางอากาศใกล้กับพอร์ตแลนด์ในปี 2519 มีผู้เสียชีวิต 7 ราย ทั้งหมดล้วนนั่งอยู่ใน 4 แถวแรก

นอกจากนี้มีอุบัตเหุตเพียง 5 ครั้งเท่านั้นที่ผู้โดยสารบริเวณด้านหน้าประสบเหตุเบากว่าซึ่งเหตุการทั้ง 5 เกิดระหว่างปี 2531-2535 ส่วนใหญ่เพราะเหตุเกิดที่บริเวณปีก อย่างอุบัตเหตุในปี 2532 ที่ไอโอวา กับสายการบินยูไนเต็ด มีผู้โดยสารรอดชีวิต 175 คน โดยส่วนใหญ่อยู่ที่ห้องผู้โดยสารส่วนหน้าปีกและส่วนหัว และอีก 3 ครั้งที่ทั้งผู้นั่งส่วนหัวและท้ายเครื่องมีโอกาสรอดชีวิตพอๆกัน

ส่วนผู้ที่นั่งบริเวณหัวลำปลอดภัยนั้น มีเพียง 1 กรณีเท่านั้น ในปี 2532 เครื่องโบอิง 737-400 ของสายการบินยูเอสแอร์(USAir) เกิดอุบัติเหตุบนทางวิ่ง (รันเวย์) มีผู้โดยสารเสียชีวิตเพี่ยง 2 สายคือ ผูที่นั่งในแถวที่ 21 และ 25

ภาพจากป๊อบปูล่า มาแคนนิกส์ที่แบ่งเครื่องบินออกเป็น 4 ส่วน เมื่อวิเคราะห์ตามสถิติ ในกรณีเกิดอุบัติเหตุ สีเขียน -ห้องผู้โดยสารส่วนท้าย (Rear Cabin) คือส่วนที่มีโอกาสรอดถึง 69% สีเหลืองประกอบไปด้วย 2 ส่วนคือ ห้องผู้โดยสารที่บริเวณปีกและหน้าปีก มีอัตราการรอดชีวิต56% และส่วนสีแดง-ห้องผู้โดยสารชั้นหนึ่ง และชั้นธุรกิจ (โFirst/Bussiness Class) มีโอกาสรอดชีวิต 49%(และยิ่งอยู่แถวหน้าโอกาสรอดต่ำลงไปอีก)

แม้จะเห็นว่าอัตราการรอดชีวิตหากเกิดอุบัติเหตุบนเครื่องบินไม่แตกต่างกัน มากนัก แต่ที่สำคัญไม่ว่าจะนั่งตรงไหนของเครื่องก็ตามเมื่อรัดเข็มขัดแน่นแล้ว ขอให้ตั้งใจฟังลูกเรือแนะนำกรณีฉุกเฉินต่างๆและประคองสติให้มั่นขณะเกิดเหตุ อย่าลืมว่าอุบัติเหตุเกิดขึ้นได้ทุกขณะ ฉะนั้นต้องไม่ประมาท

ดังน้นการจัดการสาธิตเพื่อการเตรียมตัวของผู้โดยสารและความปลอดภัยบนเครื่องบิน เป็นสิ่งสำคัญที่ผู้โดยสารไม่ควรละเลยเริ่มตั้งแต่

1. ผู้โดยสารต้องเก็บของไว้ในที่เก็บของเหนือศรีษะหรือใต้ที่นั่งด้านหน้า เพราะถ้าเกิดเหตุฉุกเฉินจะกลายเป็นสิ่งกีดขวางเส้นทางหนีของผู้โดยสารเอง

2.การ รัดเข็มขัดที่ถูกต้อง-ต้องรัดให้กระชับที่ระดับสะโพก หากเกิดเหตุฉุกเฉินเข็มขัดจะรั้งช่วงสะโพก ซึ่งถือเป็นจุดค่อนข้างแข็งแรง และต้องรัดเข็มขัดไว้ตลอดเวลาขณะนั่งประจำที่ ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะเราไม่รู้ว่าเครื่องบินจะตกหลุมอากาศตอนไหน

3.ควรปรับพนักเก้าอี้ให้ตั้งตรง พับเก็บโต๊ะหน้าที่นั่งและให้เปิดหน้าต่างทุกบาน เนื่องจากช่วงเครื่องบินกำลังบินขึ้นและบินลงนั้นกว่า 90 % ของอุบัติเหตุจะเกิดขึ้นในช่วงนี้ เมื่อเกิดเหตุฉุกเฉินสิ่งเหล่านั้นจะขวางทางขณะหนีออกจากตัวเครื่องบิน การเปิดกระจกตลอดการเดินทางผู้โดยสารจะได้มองเห็นสถารณ์ภายนอก ถ้าปิดหน้าต่างจะไม่รู้ว่าภายนอกเป็นอย่างไร

4.การใช้โทรโทรศัพท์มือถือ และอุปกรณืการสือสารต่างๆ ไม่ควรใช้อย่างเด็ดขาด เพราะเคลื่นสัญญาณจากโทรศัพท์มือถือจะรบกวนการติดต่อสื่อสารระหว่างนักบิน และหอบังคับการบินเป็นเหตุให้เกิดอุบัติเหตุได้

5.เวลาขึ้นเครื่องไม่ควรจะใส่ส้นสูง เพราะจะก่อให้เกิดอันตรายในขณะที่เคลื่อนย้ายผู้โดยสารฉุกเฉิน โดยเฉพาะตอนอพยพผู้โดยสารจะต้องถอดรองเท้าและสไลด์ลงไปตามสไลด์ราฟท์ เพราะถ้าใส่ส้นสูงหรือรองเท้า อาจจะทำให้ส้นรองเท้าไปเกาะเกี่ยวกับเบาะ อาจทำให้เบาะร่วงและไม่อาจใช้การได้

นอกเหนือจากข้อมูลของการเลือกที่นั่งแล้ว การฟังลูกเรือที่ให้ข้อมูลเกี่ยวกับความปลอดภัย และสาธิตอุปกรณืความปลอดภัยบนเครื่องบินก็เพื่อความปลอดภัยในชีวิตของผู้โย สารเอง

ที่มา jojo7000

วันศุกร์ที่ 2 ตุลาคม พ.ศ. 2552

ประโยชน์มากมายในผักกาด





ผักกาดจัดเป็นผักประเภทกินใบ ได้แก่ ผักกาดขาว ผักกาดดำ ซึ่งถือว่าเป็นผักพื้นเมืองในไทย ดองได้อร่อยกว่าผักดองเปรี้ยวเค็มชนิดอื่น ผักกาดขาวปลีที่ชาวไร่ปลูกขายในโรงงาน ปรุงสดๆ จะขมเฝื่อน แต่ถ้าดองแล้วรสชาติดี กรอบไม่ยุ่ย เก็บไว้ได้นานไม่เสีย หากปลูกกันมาก จะมีราคาถูก ต่ำสุดอยู่ที่ กก.ละ 30 สตางค์ หากในหน้าแล้งปลูกน้อย ราคาจะแพงถึง กก.ละ 5 บาทเลยทีเดียว กะหล่ำปลีและผักกาดกวางตุ้งอยู่ในตระกูลเดียวกัน ปลูกกันมากที่สุดในประเทศจีน สามารถนำมาทำเป็นแกงผักกาดจอและทำมัสตาร์ดขายไปทั่ว คะน้า ก็เป็นผักกาดอย่างหนึ่ง เชื่อว่ามีส่วนช่วยในการเสริมสร้างกระดูกได้แข็งแรง และผักกาดโสภณ หรือผักฮ่องเต้ จะมีราคาแพงหน่อย แต่ก็มีสารอาหารพอๆ กัน

ผักกาดกินดอก เช่น กะหล่ำดอก ในทางวิทยาศาสตร์ได้ค้นพบแล้วว่า อุดม ไปด้วยสารต่างๆ ที่ช่วยป้องกันการเกิดเซลล์มะเร็ง คนไทยในอดีต จึงคั้นเอาแต่น้ำสดๆ อมกลั้วคอ รักษาอาการร้อนใน และทารักษาโรคเรื้อนกวาง บร็อคโคลี่ ก็นับว่าเป็นตระกูลเดียวกับผักกาด มีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า กะหล่ำดอกอิตาเลียน

ผัก ทั้ง 2 ชนิดนี้ ดอกกะหล่ำสวยๆ ขาวๆ ชาวสวนจะใช้ยาฆ่าแมลงและยากันเชื้อราฉีดลงไปทุกๆ วันนกว่าจะตัดขาย ซึ่งถ้าไม่ทำเช่นนั้นแล้ว ผักก็จะถูกหนอนเจาะ และเชื้อดำระบาดบนดอก ซึ่งจะต้องหมั่นล้างและแช่ผักเพื่อให้สารเคมีของยาฆ่าแมลงหมดไป บร็อคโคลี่ กินได้สบายปาก แมลงมักไม่ค่อยะมารังควานเท่าไหร่นัก อีกทั้งยังไม่เป็นที่นิยมรับประทานกันสักเท่าไหร่ จึงปลูกน้อย รวมทั้งปลูกให้ดูดีก็ยาก เพราะชอบอากาศที่หนาวเย็นมาก

ผัก อีกอย่างที่อยู่ในตระกูลเดียวกับผักกาด ก็คือ หัวผักกาด ซึ่งกินแต่ส่วนหัว เช่น นำมาทำแกงจืด แกงส้ม หัวไชเท้า และดองไชโป๊หวาน และโหระพา ซึ่งเด็ดเอาแต่ใบ ล้างและแช่น้ำให้สดและกรอบ

สำหรับคุณค่าอาหารในผักกาด ที่เก็บมาฝากก็มีดังต่อไปนี้ บร็อคโคลี่ ซึ่งมีพลังงานมากกว่าผักชนิดอื่นๆ รองลงมา ก็คือ คะน้า หัวไชโป๊ กะหล่ำดอก ผักกาดขาวปลี(อีลุ้ย) และกวางตุ้ง ส่วนผักกาดหอม(ผักสลัด) ผักกาดแก้วที่ปลูกบนดอยสูง กับผักกาดนกเขา ไม่จัดเป็นผักในวงศ์เครือญาติของผักกาด ฝรั่งได้บอกว่า มันเป็นผักกาดปลอม

หากอยาก จะทานผักกาดให้อร่อย ต้องปรุงให้สุกอย่างเร็ว โดยใส่ลงไปในน้ำเดือดจัดๆ ประมาณ 3 นาที ยกลงออกจากเตา หรือผัดด้วยไฟแรง และถ้าต้องการทำสลัด ก็ฉีกด้วยมือ ผักจะสดกรอบดีกว่าหั่นมีด

นักวิทยาศาสตร์ เชื่อว่า ผักตระกูลผักกาด เป็นผักที่รักษาโรคครอบจักรวาล จึงแนะนำให้รับประทานผักอยู่เสมอ ซึ่งจะช่วยป้องกันกระดูกพรุน หูตาที่ฝ้ามัว ป้องกันมะเร็ง หรือกินคะน้าที่สร้างเสริมกระดูกให้แข็งแรง จึงขึ้นชื่อว่า ผักสร้างกระดูก สารสำคัญที่พบในผักเหล่านี้ ก็คือ ซันโฟราเฟน (sulforaphane) สารผลึกอินโดลส์ (indoles) กรดธรรมชาติโฟลิก (folic acid) และกำมะถัน (sulphur)

แพทย์แผนไทยโบราณ ได้จัดผักกาดเป็นสมุนไพร ซึ่งสามารถนำผักจำพวกผักกาดต้มน้ำ ดื่มแก้เจ็บคอ หยดเป็นยาล้างแผลเรื้อรัง หอบหืด อีกวิธีหนึ่งคือ บดผักกาดหรือกวางตุ้ง คั้นเอาแต่น้ำ1 ถ้วย เทลงไปในน้ำเดือดจัด 2 ช้อนโต๊ะตั้งบนไฟ รีบยกออก ทิ้งไว้ให้อุ่น ดื่มแทนน้ำเสริมพลังงาน ลดอาการแก่ชราที่ความจำไม่ค่อยดีได้ ซึ่งเป็นแบบอย่างของจีน

จีน เป็นชาติที่น่านับถือในเรื่องการดูแลสุขภาพ เห็นว่ามีการตั้งโรงงานผลิตน้ำผักกาดสกัดเป็นแคบซูลขาย ซึ่งเป็นอาหารเสริม นับว่าสะดวกอย่างมาก

เราสามารถลวกใบผักกาดขาว ตัดเป็นชิ้นๆ โรยกับเกลือ น้ำส้ม น้ำตาล เหยาะน้ำมันงาบริสุทธิ์ 1 ช้อนชา หมักประมาณ 10 นาที ทานกับข้าวต้มทุกวัน จะฟื้นตัวจากไวรัสตับอักเสบบีได้รวดเร็ว

สำหรับผักกาดเขียวปลี ครึ่งกก. เต้าหู้ขาว 3 ชิ้น มะขามป้อมลูกโต 8 ลูก ขิงสดแง่งใหญ่ นำไปต้มกับน้ำ 4 แก้ว ดื่มหลังอาหาร แก้อาการหวัดเย็นได้ อีกวิธีหนึ่ง คือ นำผักกาดเขียวปลี 1 กก.กับแห้วสดครึ่งกก. ต้มดื่มเป็นน้ำชา แล้วบีบมะนาวลงไปด้วย ช่วยขับปัสสาวะและลดความร้อนในร่างกาย ป้องกันโรคนิ่วได้
ที่มา jojo7000.com

6P เพื่อความสำเร็จในการทำงาน





ในช่วงปีที่ผ่านมา ใครที่คิดว่าตัวเองยังไม่ประสบความสำเร็จในหน้าที่การงานเท่าที่ควร ก็อย่าเพิ่งท้อ ลองค้นหาจุดบกพร่องของตัวเอง แล้วปรับปรุงให้ดีขึ้น พร้อมทั้งหาเทคนิควิธีการใหม่ๆ มาปรับใช้ในการทำงาน ซึ่งวันนี้ทีมงานมีเทคนิคในการทำงานดีๆ ที่เรียกว่า คาถา 6 P มาฝากกัน

1. P-Positive Thinking คือ การมีทัศนคติที่เป็นบวก มองโลกในแง่ดีอยู่เสมอ ไม่คิดใน ทางลบ เช่น หากเจอปัญหาในการทำงาน แทนที่จะมานั่งกลุ้มใจคิดว่าคราวนี้ต้องแย่แน่ๆ ก็ให้มองว่า นี่เป็นหนทางหนึ่งที่จะฝึกฝนให้เราเก่งกล้ามากยิ่งขึ้น

2. P-Peaceful Mind คือ การมีจิตใจที่สงบ เคยได้ยินคำพูดที่ว่า “จงใช้ความสงบสยบความเคลื่อนไหว” หรือเปล่า คำพูดนี้ใช้ได้ผลดีทีเดียว เวลาเกิดปัญหาขึ้น เราอย่าเพิ่งตื่นตระหนกไปกับปัญหานั้น การที่เรามีจิตใจที่สงบ มีสมาธิ จะทำให้เราเกิดปัญญาในการคิดหาวิธีแก้ปัญหา นอกจากนี้ ยังทำให้เรามีสุขภาพจิตที่ดีอีกด้วย

3. P-Patient คือ การมีความอดทน คาถาข้อนี้ก็สอดคล้องกับข้อที่แล้ว เพราะการที่เราจะมีจิตใจที่สงบได้ เราต้องรู้จักอดทนอดกลั้น ระงับอารมณ์ความรู้สึกที่ไม่ดีต่างๆ หากสิ่งใดไม่เป็นไปตามที่เราคาดหวังไว้ เราก็ต้องอดทนรอคอยให้ถึงช่วงเวลาของเรา นอกจากนี้ยังต้องอดทนต่อปัญหาและความยากลำบากในการทำงานด้วย

4. P-Punctual คือ การเป็นคนตรงต่อเวลา มนุษย์เราได้ถูกปลูกฝังให้เป็นคนมีวินัย รู้จักตรงต่อเวลามาตั้งแต่ยังเป็นเด็ก เช่น การไม่มาโรงเรียนสาย การส่งการบ้านให้ตรงเวลา ในการทำงานก็เช่นกัน หากเรามาทำงานสาย เจ้านายหรือหัวหน้าก็คงไม่ชอบแน่ๆ แล้วยิ่งถ้าเราผิดนัดลูกค้า ผลเสียคงตามมาอีกเป็นกระบุง เพราะแม้แต่เวลายังรักษาไม่ได้ แล้วคุณจะได้รับความไว้วางใจให้ทำงานใดๆ ล่ะ

5. P-Polite คือ การเป็นคนสุภาพ อ่อนน้อมถ่อมตน การเป็นคนสุภาพนอบน้อมจะทำให้มีแต่คนรักใคร่ และอยากช่วยเหลือ ยิ่งถ้าเรามีตำแหน่งใหญ่โตด้วยแล้ว ยิ่งต้องมีความสุภาพอ่อนน้อม เพราะจะทำให้ผู้อื่นยิ่งเกรงใจเรามากขึ้น ตรงกันข้าม การทำตัวกระด้างกระเดื่องหยิ่งยโส ย่อมเป็นที่รังเกียจของสังคม และไม่มีใครอยากคบค้าสมาคมด้วย

6. P-Professional คือ ความเป็นมืออาชีพในการทำงาน การที่เรามีหน้าที่อะไร เราก็ควรทำตัวให้มีความรู้ ความเชี่ยวชาญในหน้าที่นั้นๆ หมั่นแสวงหาความรู้ใหม่ๆ และหมั่นฝึกปรือฝีมือในการทำงานอยู่เสมอ เพื่อให้งานออกมาดีที่สุด การทำงานอย่างมืออาชีพ จะเป็นที่ชื่นชมและไว้วางใจของเจ้านาย รวมไปถึงลูกค้าที่ย่อมจะพอใจ และไว้วางใจให้เราทำงาน ดูแลงานของเขาต่อไป

คาถา 6 P ที่นำมาฝากนี้ อยากให้คุณผู้อ่านนำไปปฏิบัติให้เป็นนิสัย รับรองว่ามันจะเป็นวิธีหนึ่งที่จะทำให้คุณประสบความสำเร็จในหน้าที่การ งานอย่างแน่นอน!


ที่มา jojo7000.com